รู้จัก นกชนหิน สัตว์ป่าสงวนหายากในไทย ที่ควรอนุรักษ์ไว้

ทำความรู้จัก นกชนหิน สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 สัตว์ป่าหายากในไทยเสี่ยงสูญพันธุ์ ที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศ พร้อมข้อมูลน่ารู้และเหตุผลที่ควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้

นกชนหิน

เปิดข้อมูล “นกชนหิน” สัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งจากการโดนล่า มาช่วยกันต่อลมหายใจความสวยงามให้กับผืนป่า ด้วยการช่วยกันอนุรักษ์นกสายพันธุ์นี้กัน ก่อนที่พวกมันจะหายไปตลอดกาล

นกชนหิน ข้อมูลน่ารู้

นกชนหิน หรือที่รู้จักในชื่อภาษาอังกฤษ Helmeted Hornbill และชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Rhinoplax vigil ถือเป็นสายพันธุ์นกโบราณที่มีความเก่าแก่มานานถึง 45 ล้านปี จัดอยู่ในตระกูลเดียวกับนกเงือก ส่วนมากอาศัยอยู่ในป่าดงดิบในประเทศพม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และทางภาคใต้ของไทย

นกชนหิน สัตว์ป่าสงวนของไทย

นกชนหิน

นกชนหิน ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้กระจายอยู่ใน 3 พื้นที่อนุรักษ์ ได้แก่

อุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี 
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา 
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 

ในปัจจุบันจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 ของไทย และจัดอยู่ในเกณฑ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered หรือ CR) เนื่องจากถูกคุกคามจากการล่า เพื่อนำไปทำของใช้และเครื่องประดับเช่นเดียวกับนกเงือกสายพันธุ์อื่น ๆ ในไทย ในปัจจุบันมีการคาดการณ์กันว่ามีจำนวนของนกชนหินหลงเหลืออยู่ในป่าตามธรรมชาติไม่เกิน 100 ตัว

ซึ่งแท้จริงแล้วควรช่วยกันอนุรักษ์ไว้ เพราะถือเป็นสายพันธุ์นกที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก เพราะช่วยกระจายพันธุ์ไม้ในป่าได้มากมาย อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนั้นอีกด้วย

ลักษณะนกชนหิน

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า นกชนหิน จัดอยู่ในตระกูลนกเงือก และเป็น 1 ใน 13 สายพันธุ์นกเงือกไทย โดยนกชนหินมีจุดเด่นที่แตกต่างจากนกเงือกสายพันธุ์อื่น ๆ คือ ตรงโหนกที่มีความแข็งและตันคล้ายงาช้างสีแดง หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ “งาช้างสีเลือด”

ลักษณะนกชนหิน มีขนาดประมาณ 120 เซนติเมตร ลำตัวมีขนสีน้ำตาลเข้ม ใต้ทองสีขาวนวล ขอบปีกขาว ส่วนหางเป็นขนสีขาวคาดแถบดำ มี 2 เส้น ความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร วิธีจำแนกเพศนกชนหิน สามารถสังเกตได้จากหนังบริเวณคอของตัวผู้จะมีสีแดงถึงสีแดงคล้ำ ส่วนตัวเมียจะมีสีม่วง ฟ้าอ่อน หรือน้ำเงิน ขึ้นอยู่กับช่วงวัย

นอกจากนี้ยังมีเสียงร้องตุ๊ก ๆ ดังเป็นจังหวะ และร้องกระชั้นขึ้นตามลำดับ และจะมีเสียงคล้ายเสียงหัวเราะดังประมาณ 4-5 ครั้ง เมื่อกำลังจะร้องสุดเสียง และจะแผดเสียงคล้ายแตรเมื่อตกใจ เมื่อมีการต่อสู้ นกจะเอาโหนกชนกันจนเกิดเสียงกระทบ และกลายเป็นที่มาของชื่อ “นกชนหิน” นั่นเอง

อาหารและการผสมพันธุ์

นกชนหิน

อาหารหลักของนกชนหินคือ ลูกไทร นอกจากนี้ก็ยังมีแมลงและสัตว์ขนาดเล็ก อาทิ กระรอก กิ้งก่า และนก

อีกทั้งนกชนหินจะมีการผสมพันธุ์เพียงปีละครั้ง และสามารถเลี้ยงลูกได้ครั้งละ 1 ตัว โดยพ่อนกจะทำหน้าที่เป็นฝ่ายหาอาหารมาให้แม่นกกับลูกนกที่รังนั่นเอง

เนื่องจาก นกชนหิน มีจำนวนน้อยและอัตราการขยายพันธุ์ต่ำ ดังนั้นจึงเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้อย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของผืนป่าแล้ว ยังช่วยกระจายพันธุ์ไม้อีกด้วย ก่อนที่นกชนิดนี้จะสูญพันธุ์ไปจากป่าไม้ไทยตลอดกาล

ขอบคุณข้อมูลจาก paro6.dnp.go.th, chm-thai.onep.go.th, hornbill.or.th, home.maefahluang.org และ seub.or.th