ทำความรู้จัก เสือโคร่ง สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่ควรอนุรักษ์ไว้ พร้อมข้อมูลน่ารู้ต่าง ๆ ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย ลักษณะ นิสัย สายพันธุ์ต่าง ๆ รวมไปถึงวันสำคัญอย่างวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลกด้วย
หากพูดถึง เสือโคร่ง อาจจะฟังดูน่ากลัว จากลักษณะที่ดูน่าเกรงขาม และข่าวคราวต่าง ๆ เช่น มีคนโดนเสือโคร่งทำร้าย มาให้เห็นกันอยู่เนือง ๆ วันนี้กระปุกดอทคอมจะพาทุกคนไปรู้จักกับสัตว์ป่าชนิดนี้ให้มากขึ้นว่าจริง ๆ แล้วเสือโคร่งเป็นสัตว์อันตรายอย่างที่หลายคนคิดหรือไม่ ตั้งแต่ถิ่นที่อยู่อาศัย สายพันธุ์ ลักษณะ ไปจนถึงนิสัย และเพราะเหตุใดจึงควรช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ชนิดนี้เอาไว้
ที่อยู่และลักษณะของเสือโคร่ง
เสือโคร่ง เป็นสัตว์ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และจัดเป็นประเภทเสือที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Panthera Tigris พบได้ในป่าของทวีปเอเชียและทางตะวันออกของประเทศรัสเซีย รวมถึงประเทศไทยที่พบมากในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อุทยานแห่งชาติปางสีดา และอุทยานแห่งชาติทับลาน
เสือโคร่งมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากเสือประเภทอื่น ๆ คือ ขนบนลำตัวสีแดง-ส้มไปจนเหลืองปนน้ำตาล ใต้ท้องมีขนสีขาว มีลาดพาดสีดำและเทาเข้มตลอดทั้งตัว หรือที่เรียกว่า "ลายพาดกลอน" หากมองเผิน ๆ ลวดลายของเสือโคร่งอาจจะดูเหมือนกัน แต่ความจริงแล้วลายของเสือโคร่งแต่ละตัวมีความแตกต่างกันไป
ส่วนขนาดลำตัวของเสือโคร่งแต่ละตัวขึ้นอยู่กับเพศและสายพันธุ์ ความยาวรวมหางโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ประมาณ 140-300 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ส่วนใหญ่เสือโคร่งตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย อายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 15 ปี
นิสัยของเสือโคร่ง
เสือโคร่ง มีนิสัยรักสันโดษ ชอบอยู่ตามลำพัง แต่บางครั้งอาจจะมีการรวมกลุ่มบ้างในเวลาที่ต้องการล่าเหยื่อขนาดใหญ่ หรือเป็นแม่เสือที่กำลังเลี้ยงดูลูก นอกจากนี้เสือโคร่งยังมีการสร้างอาณาเขตของตัวเองเหมือนกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ โดยการปล่อยปัสสาวะไว้ตามที่ต่าง ๆ กินพื้นที่ประมาณ 10-70 กิโลเมตร
อาหารของเสือโคร่ง
เสือโคร่งเป็นสัตว์กินเนื้อและมักจะกินสัตว์ขนาดใหญ่เป็นหลัก เช่น กวาง หมูป่า หมี แต่ก็มีเสือบางพื้นที่อาจจะมีการล่าสัตว์เล็กหรือสัตว์เลื้อยคลานอย่างนก ปลา จระเข้ เป็นอาหารด้วยเช่นกัน ส่วนใหญ่จะออกล่าเหยื่อช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน โดยอาศัยการพรางตัวและซุ่มโจมตีเหยื่อจากด้านข้างหรือด้านหลังอย่างรวดเร็ว ด้วยการกัดที่คอหอยหรือคอด้านหลัง ซึ่งแรงกัดของเสือโคร่งสามารถทำให้กระดูกคอแตกจนเสียชีวิตได้เลยทีเดียว
สายพันธุ์เสือโคร่ง
สายพันธุ์ของเสือโคร่งที่พบทั่วโลกมีทั้งหมด 9 สายพันธุ์ด้วยกัน แบ่งตามถิ่นที่อยู่อาศัย แต่สูญพันธุ์ไปแล้ว 3 สายพันธุ์ คือ เสือโคร่งบาหลี เสือโคร่งชวา และเสือโคร่งแคสเปียน ส่วนสายพันธุ์เสือโคร่งที่ยังหลงเหลืออยู่ ได้แก่ เสือโคร่งสายพันธุ์สุมาตรา สายพันธุ์ไซบีเรีย สายพันธุ์จีนใต้ สายพันธุ์มลายู สายพันธุ์อินโดจีน และสายพันธุ์เบงกอล แต่ในปัจจุบันก็มีจำนวนน้อยลงมากเพราะตกเป็นเหยื่อจากการล่าและโดนคุกคามที่อยู่อาศัย ดังนั้นในหลายประเทศจึงมีการห้ามไม่ให้มีการล่าเสือโคร่งเกิดขึ้น รวมถึงในประเทศไทย
อ่านเพิ่มเติม : เปิดทำเนียบ เสือ 5 ชนิดเสี่ยงสูญพันธุ์ ถูกขึ้นบัญชีเป็น "สัตว์ป่าคุ้มครอง"
วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก
หลังจากการประชุมเสือโคร่งโลก (Tiger Summit) ในปี 2553 จาก 13 ประเทศสำคัญที่มีเสือโคร่งกระจายตัวและอาศัยอยู่ ได้กำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก (International Tiger Day) เพื่อให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเสือโคร่ง ช่วยกันปกป้องอนุรักษ์สัตว์ป่าชนิดนี้เอาไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ และรักษาความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไปพร้อมกัน
อ่านเพิ่มเติม : 29 กรกฎาคม วันอนุรักษ์เสือโคร่งโลก รักษ์เสือไว้ ไม่ให้สูญพันธุ์
แม้เสือโคร่งจะเป็นสัตว์ที่ดูโหดร้าย น่ากลัว แต่จริง ๆ แล้วก็เป็นสัตว์ป่ารักสันโดษและส่วนใหญ่จะโจมตีเพื่อล่าเหยื่อและป้องกันอาณาเขต อีกทั้งในปัจจุบันก็มีจำนวนเหลือน้อยจนใกล้จะสูญพันธุ์ คงจะดีกว่าหากทุกคนช่วยกันอนุรักษ์เอาไว้ เพื่อผืนป่าที่สมบูรณ์และป้องกันไม่ให้ระบบนิเวศถูกทำลายไป
ขอบคุณข้อมูลจาก seub.or.th, verdantplanet.org, wwf.or.th และ dnp.go.th